ปลูก "ส้มโอ" ให้โกอินเตอร์ ต้องลูกใหญ่ ทรงสวย หวานฉ่ำ มาตรฐาน GAP

         “ส้มโอ” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกทะลุ 500 ล้านบาท ติดต่อกันมาถึง 3 ปีแล้ว โดยมีตลาดหลักคือ จีน, ฮ่องกง และเวียดนาม (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างปี 2560 - 2562) ส่วนตลาดในประเทศก็ยังไปได้ เรียกว่ายังไม่มีการล้นตลาด

 

         ส้มโอเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง  มีจุดเด่น คือ อายุยืน หากดูแลต้นให้สมบูรณ์จะสามารถให้ผลผลิตต่อเนื่องนาน 20-30 ปี แถมระยะเก็บเกี่ยวสำหรับบางสายพันธุ์นั้นอยู่ที่ราว 6 เดือนเท่านั้น เห็นแบบนี้แล้วหลายคนอยากจะลองปลูกส้มโอติดบ้านกันไว้สักต้น

 

         พาไปคุยกับ คุณวิฑูรย์ ภู่บุตร อายุ 48 ปี ชาวบ้านบึงถัง ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เกษตรกรปลูกส้มโอประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่เริ่มต้นจากสวนส้มโอหลักสิบไร่ จนปัจจุบันสามารถขยายออกเป็น 100 ไร่ ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีเท่านั้น

 

         “ส้มโอ” สำหรับส่งออกนั้นต้องได้มาตรฐานทั้งในเรื่องของขนาด ที่ต้องได้น้ำหนักอยู่ในช่วงประมาณ 0.8-1.8 กิโลกรัม หากมีขนาดใหญ่เกินไปก็อาจจะตกเกรดเอได้ นอกจากนี้ต้องดูแลให้ผิวและทรงสวย เปลือกบาง รสชาติหวาน และปลอดสารตกค้างตามมาตรฐานระบบ GAP โดยที่สวนของคุณวิฑูรย์นั้น สามารถผลิตส้มโอได้คุณภาพส่งออกเป็นสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จนสามารถสร้างรายได้หลักล้านบาท

ปลูก "ส้มโอ" ให้โกอินเตอร์ ต้องลูกใหญ่ ทรงสวย หวานฉ่ำ มาตรฐา

         กว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่น้อย หลักการสำคัญของคุณวิฑูรย์ คือต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลเรื่องความสมบูรณ์ของต้น คอยบำรุงไม่ให้ต้นโทรม เพราะหากต้นไม่สมบูรณ์จะกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตโดยตรง ตามไปดูกันว่า คุณวิฑูรย์ มีเคล็คลับการดูแลส้มโอให้มีคุณภาพอย่างไรบ้าง

 

“โพธิ์ประทับช้าง”
แหล่งปลูกสำคัญของประเทศ

         ปัจจุบัน จ.พิจิตร มีพื้นที่ปลูกส้มโอ ประมาณ 15,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง มีพื้นที่ในการปลูกมากที่สุด คือ รวมประมาณ 10,000 ไร่ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกส้มโอสำคัญ และมีศักยภาพส่งออกอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศไทย

 

         โดยส้มโอพันธุ์ขึ้นชื่อของที่นี่คือ “ท่าข่อย” ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์อื่นๆ อย่างขาวแตงกวา, ขาวน้ำผึ้ง และทองดี ก็มีการปลูกอย่างแพร่หลายเช่นกัน

 

         ครอบครัวของคุณวิฑูรย์ เป็นหนึ่งในชาวสวนส้มโอที่เริ่มต้นด้วยการปลูกส้มโอ “พันธุ์ท่าข่อย” จำนวน 15 ไร่ แต่ปลูกอยู่ประมาณ 7-8 ปี ระยะหลังส้มโอพันธุ์นี้เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง จึงหันมาปลูกพันธุ์ “ขาวแตงกวา” ซึ่งเป็นที่นิยมของมีตลาดส่งออกรองรับ

 

“ท่าข่อย-ขาวแตงกวา” จุดเด่นคนละแบบ

         ส้มโอพันธุ์ “ท่าข่อย” มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลทรงกลม ผิวเมื่อแก่ติดอมเหลืองนิดๆ เนื้อ หรือ “กุ้ง สีอมชมพู เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ถูกบันทึกอยู่ในคำขวัญ จ.พิจิตร คือ “รสเด็ดส้มท่าข่อย”

 

         ส่วนพันธุ์ “ขาวแตงกวา” จุดเด่น คือ รสชาติหวานนำ ผลขนาดกลางกลมแป้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-18 เซนติเมตร กุ้งสีขาวอมน้ำผึ้ง ไม่แฉะ เป็นที่นิยมทั้งตลาดใน และต่างประเทศ

 

ส้มโอพันธุ์ท่าข่อย

         ส้มโอพันธุ์ “ท่าข่อย” มีจุดเน้นสำคัญ คือ ต้องเก็บผลขณะที่แก่จัดเท่านั้น คือ แก่ราว 90-100 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้รสชาติดี หากเก็บตอนยังแก่ไม่เต็มที่ ก็จะได้รสหวานอมเปรี้ยวติดขม จึงเป็นสาเหตุทำให้ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมของตลาด เพราะผู้บริโภคเจอส้มโอท่าข่อยที่ตัดขณะยังไม่แก่จัด จนติดภาพว่าเป็นส้มโอที่รสชาติขม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

 

         โดยปัจจุบันสวนคุณวิฑูรย์ก็ยังคงรักษาส้มโอท่าข่อยไว้บ้างพอไม่ให้สูญหาย เพราะถือเป็นพันธุ์ท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นส้มโอที่ปลูกเพื่อการจำหน่ายเป็นหลักคือพันธุ์ “ขาวแตงกวา”

 

ส้มโอ “ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ”
เริ่มต้นให้ดี ควรปลูกแบบยกร่อง

         ธรรมชาติของส้มโอเป็นพืชชอบชื้น แต่ไม่ชอบแฉะ ดังนั้นการเตรียมแปลงปลูก คุณวิฑูรย์แนะนำให้ “ยกร่อง” ข้อดีของการปลูกแบบยกร่องข้อแรก คือ ช่วยเรื่องการระบายน้ำภายในแปลง เพื่อไม่ให้น้ำขัง ส่วนอีกข้อสำคัญ คือ ช่วยเรื่องการทำดอก โดยหลักการ คือ การลดความชื้นในดินในช่วงเวลาที่พืชสร้างตาดอก จะช่วยกระตุ้นให้ไม้ผลสร้างตาดอกได้ ซึ่งการยกแปลงขึ้นในลักษณะหลังเต่านั้นจะทำให้การระบายน้ำดีขึ้น

 

         ส่วนระยะห่างระหว่างแถวที่เหมาะสมคือ 8x8 เมตร และระหว่างต้น (บนหลังเต่า) คือ 8x7 เมตร โดยระยะประมาณนี้ คุณวิฑูรย์บอกว่า ง่ายต่อการจัดการในอนาคตมากที่สุด เพราะว่าสามารถนำรถและเครื่องจักรทางการเกษตรมาช่วยทุ่นแรงได้

ระยะระหว่างต้น แปลงสวนส้มโอ คุณวิฑูรย์

ระยะระหว่างต้น แปลงสวนส้มโอ คุณวิฑูรย์

 

“ยกโขด”
เทคนิคการปลูกให้ต้นโตเร็ว

         เมื่อเตรียมแปลงเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะลงต้นส้มโอ คุณวิฑูรย์แนะเทคนิคให้ คือ “การยกโขด” เพื่อช่วยให้ต้นส้มโอโตเร็วในระยะต้น

 

         การยกโขด คือ การพูนดินขึ้นให้สูงกว่าระนาบ ก่อนจะขุดดินบนโขดลงมาเล็กน้อยเพื่อลงต้นส้มโอ วิธีนี้จะทำให้รากต้นส้มโออยู่แค่เพียงดินชั้นบนๆ เมื่อใส่ปุ๋ยลงไปจะช่วยให้รากดูดซึมธาตุอาหารได้อย่างรวดเร็ว

 

การปลูกส้มโอ

บำรุงต้น-ใบให้สมบูรณ์
หัวใจสำคัญของผลผลิตที่ดี

         ส้มโอจะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุ 3-4 ปีขึ้นไป จากนั้นจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี และจะให้ผลผลิตดีคงที่ตราบเท่าที่ต้นยังสมบูรณ์ อยู่จนอายุประมาณ 20-30 ปี ดังนั้นคุณวิฑูรย์จึงให้ความสำคัญ กับการบำรุงต้นมาก เพราะยิ่งต้นแข็งแรง ใบเขียวมัน-เงา สมบูรณ์มากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าจะสามารถยืดอายุการให้ผลผลิตนานเท่านั้น

เทคนิคการดูแลต้นส้มโอให้สมบูรณ์ของคุณวิฑูรย์

         สำหรับเทคนิคการดูแลต้นส้มโอให้สมบูรณ์ของคุณวิฑูรย์ นอกจากจะเน้นเรื่อง “ธาตุอาหาร” ที่ต้องบำรุงให้เพียงพอแล้ว เรื่อง “ช่วงเวลา” ของการใส่ปุ๋ย ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ เพราะแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชนั้นจะมีความต้องการธาตุอาหารไม่เหมือนกัน หากเราบำรุงในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม นอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียตามมาได้ โดยหลักการบำรุงในแต่ละช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ 

 

         การดูแลส้มโอในระยะ 1-3 ปีแรก (ช่วงที่ยังไม่ให้ผล) คุณวิฑูรย์จะเน้นบำรุงด้วยปุ๋ยคอกเพื่อปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย เกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช

 

         ระยะ 3 ปีเป็นต้นไป (ช่วงติดผลแล้ว) จะเน้นใช้ ช่วยในการบำรุงต้นและใบของส้มโอไปตลอดทั้งปี โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงขึ้นน้ำ-ทำดอก จะให้ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 16-16-16 บลู อัตรา 3 กก./ต้น โดยระยะนี้จะต้องเน้นการบำรุงเป็นพิเศษจึงให้ปุ๋ยในปริมาณมากกว่าปกติ จากนั้นเมื่อเข้าระยะส้มโอติดดอก-ผลเล็ก ยังคงให้ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 16-16-16 บลู ต่อเนื่อง แต่ลดปริมาณลงเหลืออัตรา 1.5 กก./ต้น จากนั้นเมื่อถึงระยะผลอายุได้ 3 เดือน จึงให้ อัตรา 1.5 กก./ต้น อีกครั้ง

 

 

การใส่ปุ๋ยตรากระต่ายบำรุงส้มโอในแต่ละช่วงอายุ

การใส่ปุ๋ยตรากระต่ายบำรุงส้มโอในแต่ละช่วงอายุ

 

         ส้มโอขาวแตงกวาจะเริ่มเก็บผลผลิตได้เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน นับจากดอกบาน ช่วงประมาณเดือนที่ 5 หรือระยะก่อนเก็บผลผลิต 1 เดือน คุณวิฑูรย์เลือกบำรุงผลส้มโอด้วยปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 13-13-24 โดยเน้นตัวท้ายสูง เพราะ “โพแทสเซียม” จะช่วยเพิ่มความหวานให้ส้มโอเป็นที่ต้องการของตลาด

 

การใส่ปุ๋ยตรากระต่ายบำรุงส้มโอ

         หากเกษตรกรท่านใดที่พบปัญหาส้มโอเปลือกหนา คุณวิฑูรย์ แนะนำให้ลองสังเกตว่า มีการใส่ “ปุ๋ยคอก” ขณะที่ส้มโอติดผลเล็กหรือไม่ เพราะช่วงนี้เป็นระยะที่ส้มโอกำลังพัฒนาผล หากได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป จะไปพัฒนาที่เปลือกแทน เป็นสาเหตุให้ส้มโอมีเปลือกที่หนา หรืออาการที่ชาวบ้านเรียกว่า “บวม จึงแนะนำสำหรับส้มโอระยะ 3 ปีขึ้นไป ควรใส่ปุ๋ยคอกในช่วงที่ส้มโอไม่ติดผลจะดีที่สุด เพื่อเลี่ยงปัญหาข้างต้น

 

ระบบน้ำ
ต้องวางอย่างรอบคอบ

         เรื่องของแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้ต้นส้มโอไม่ขาดน้ำในช่วงหน้าแล้ง ระบบน้ำที่คุณวิฑูรย์แนะนำ คือการให้น้ำผ่านระบบสปริงเกลอร์ โดยใช้หัวจ่ายน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ทั้งนี้ การวางจุดของหัวมินิสปริงเกลอร์ ให้วางห่างจากโคนต้นประมาณ 1.5 เมตร เนื่องจากรัศมีของน้ำจะกระจายตามแนวรากของต้นส้มโอพอดี

 

         สำหรับความถี่ของการให้น้ำ ช่วงที่ส้มโออายุ 1-3 ปี จะให้น้ำในปริมาณค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ หลังจากต้นส้มโอเริ่มอยู่ตัว อายุ 3 ปีขึ้นไป จึงเริ่มให้น้ำประมาณ 3 วัน/ครั้ง นานครั้งละครึ่งชั่วโมง

 

“โรค-แมลง”
คู่ปรับสำคัญส้มโอ

 

         ตัวชี้วัดสำคัญในการทำส้มโอให้ได้คุณภาพส่งออกคือ “ผิว” ต้องสวย เรียบเนียน ไม่ถูกทำลายโดย “เพลี้ยไฟ” ซึ่งมักจะเข้าทำลายยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ส่งผลให้ใบหงิกงอ ดอกแห้งไม่ติดผล ส่วนผลที่ถูกเพลี้ยไฟโจมตีจะเกิดรอยแผลสีออกเทา ทำให้เสียราคาไปมาก โดยช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเพลี้ยไฟ คือ “ช่วงระยะทำดอก” เดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ปัญหาโรคสำคัญสำหรับการปลูกส้มโอ

ปัญหาโรคสำคัญสำหรับการปลูกส้มโอ

 

         ส่วนโรคพืชที่ถือว่ารุนแรงสำหรับส้มโอ คือ “โรครากเน่าโคนเน่า” ที่เกิดจากเชื้อรา “ไฟทอปธอร่า” และความชื้นในดินที่มากเกิน เป็นเหตุให้ส้มโอใบเหลืองหรือยืนต้นตาย คุณวิฑูรย์แนะนำให้ลดปัญหานี้ตั้งแต่ระยะแรกด้วยการปลูกแบบยกร่อง ซึ่งจะช่วยระบายน้ำในแปลงได้ดีกว่า

 

ปลูกด้วยระบบ GAP
เพิ่มโอกาสส่งออก-สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

         สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำส้มโอส่งออก คือ ใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP ) ซึ่งจะมีเกณฑ์ที่ควบคุมดูแลการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ถือเป็นการการันตีว่าผลผลิตของเรานั้นไม่มีสารเคมีตกค้างในระดับที่เป็นอันตราย

 

ส้มโอพันธุ์ท่าข่อย

         คุณวิฑูรย์ กล่าวว่า มาตรฐาน GAP ถือเป็นใบรับรองที่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้จากจีน (ล้ง) จะมี การตรวจสอบใบรับรองทุกครั้ง หากสวนใดผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ ก็เป็นข้อได้เปรียบในการขยายตลาด สร้างรายได้ให้มากขึ้น เพราะราคาสำหรับตลาดต่างประเทศ นั้นสูงกว่าในประเทศประมาณ 1 เท่าตัว

 

         ทั้งนี้ เกษตรกรต้องมีความสื่อสัตย์ และเตรียมพร้อมแปลงของตนให้ปลอดสารตกค้างอยู่ตลอด โดยเฉพาะระยะที่ส้มโอเริ่มแก่ เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะเน้นการตรวจสอบผลผลิตช่วงเวลานี้มากที่สุด เพราะเป็นด่านสุดท้ายก่อนเก็บผลผลิตออกสู่มือผู้บริโภค ดังนั้นในระหว่างการเพาะปลูกจะต้องระวังเรื่องการใช้สารเคมีอย่างมาก

 

เก็บผลผลผลิตระยะเหมาะสม
ได้สินค้ามีคุณภาพ มีตลาดรองรับ

         การเก็บผลผลิตส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา สำหรับตลาดในประเทศ คุณวิฑูรย์แนะนำให้เก็บเกี่ยวในช่วงผลแก่ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างประเทศจะอยู่ที่ 75-80 เปอร์เซ็นต์ และจุดสังเกตความแก่ของส้มโอ คุณวิฑูรย์แนะนำให้ดูที่ 3 จุดหลักคือ “ผิว” ต้องนวลสีออกกระดังงา หากลูบที่ผิวจะรู้สึกว่านูนขึ้นเล็กน้อยตามแนวกลีบส้มโอ ต่อมาคือ “ต่อมน้ำมัน” เริ่มขยายใหญ่ขึ้น และสุดท้ายคือ “ก้น หรือสะดือ” ของผล จะลึกและกว้างขึ้น โดยถ้ากดดูจะเริ่มนิ่ม

สวนส้มโอ

         ด้านภาพรวมราคาส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา สำหรับตลาดในประเทศจะอยู่ราว 30-40 บาท/กก. ส่วนต่างประเทศจะอยู่ที่ราว 60-80 บาท/กก. หมายความว่า หากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน สามารถส่งออกได้เป็นสัดส่วนที่มาก รายได้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย และแม้จะเป็นส้มโอเกรดรองลงมา ก็ยังสามารถขายตลาดในประเทศได้ทั้งหมดเช่นกัน

สวนส้มโอคุณวิฑูรย์  ปุ๋ยตรากระต่าย

         การปลูกส้มโอให้มีคุณภาพดีมาตรฐานส่งออก มีรายละเอียดตั้งแต่การเริ่มวางแปลง การป้องกันโรคพืช-แมลง อย่างถูกหลักและปลอดภัย เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานตามระบบ GAP โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอก็คือ เรื่องการบำรุง-ดูแลความสมบูรณ์ของต้น ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางของผลผลิต เพราะหากเราดูแลต้นให้แข็งแรง ไม่ขาดธาตุอาหาร จะทำให้ส้มโอสามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อเนื่องไปอีกยาว คุ้มค่าแก่การลงทุน

 

         และนี่ถือเป็นแนวคิดการทำสวนส้มโอในแบบฉบับของคุณวิฑูรย์ ที่ผ่านการสังเกต ลองผิดลองถูก พร้อมลงปฏิบัติจริงจนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน

 

สามารถติดตามสาระเกษตรน่ารู้ ได้ที่

คลิก เคล็ดลับปลูก "ส้มโอคุณภาพ" เปลือกบาง กุ้งใหญ่ รสชาติหวานกรอบ

 

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากปุ๋ยตรากระต่าย เพิ่มเติมได้ที่

Facebook: www.facebook.com/puitrakratai/

Youtube: www.youtube.com/c/Puitrakratai

ข้อมูลสินค้าปุ๋ยตรากระต่าย : http://www.chiataigroup.com/business/fertilizer/puitrakratai