เจาะเทคนิคปลูก “มันสำปะหลัง” แบบเกษตรกรรุ่นใหม่ เน้นควบคุมต้นทุน-บำรุงตรงจุด ได้ผลผลิตกว่า 7 ตัน/ไร่

       หนึ่งในปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูก “มันสำปะหลัง” มักเจอคือ ผลผลิตตกต่ำจากดินเสื่อม เนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทราย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และง่ายต่อการชะล้าง หากปลูกมันสําปะหลังต่อเนื่องกันนานๆ โดยขาดการปรับปรุงดิน อาจส่งผลให้ ผลผลิตลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 300 กก./ไร่


       ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรมักปลูกมันสำปะหลังกันบนพื้นที่หลักสิบหรือหลักร้อยไร่ จึงไม่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ปลูกได้ง่ายนัก แล้วจะทำอย่างไรถึงจะได้ผลผลิตที่ดีสม่ำเสมอ? เราจะพาไปพบกับเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ฝีมือไม่ธรรมดา เพราะสามารถคิดค้นแนวทางการพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นได้จาก 5 เป็น 7 ตัน/ไร่ เลยทีเดียว


       คุณสุเมธ เกลอกระโทก อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา วัย 34 ปี เกษตรกรดีกรีปริญญาตรีนิติศาสตร์ เผยว่า ตนเองนั้นปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่ 200 ไร่ สืบทอดจากพ่อแม่มานานกว่า 8 ปีแล้ว ซึ่งด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่และไม่มีประสบการณ์มาก่อน จึงเริ่มเส้นทางการเกษตรด้วยการสังเกตและเรียนรู้จากแนวทางจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ จนพบว่า จุดสำคัญของการปลูกมันสำปะหลังให้ประสบความสำเร็จ คือต้องควบคุมต้นทุนให้ได้ และวางแผนการปลูกให้เป็นระบบ ต้องอาศัยความใส่ใจในขั้นตอนที่สำคัญ เช่น ช่วงการเตรียมแปลง

การเตรียมท่อนพันธุ์ และการบำรุง ถ้าเราทำอย่างพิถีพิถัน ถูกหลัก ถูกช่วงเวลา ก็จะทำให้ควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

      อ่านมาถึงตรงนี้ อยากรู้แล้วว่า คุณสุเมธ มีสูตรสำเร็จอะไรที่ทำให้ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตกว่า 7 ตัน/ไร่ ต้องตามไปดูกัน

 


เตรียมท่อนพันธุ์อย่างพิถีพิถันช่วยลดโรค คุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ


       กระบวนการการคัดเลือกท่อนพันธุ์ นั้นมีความสำคัญใน 2 เรื่องหลัก คือ


       1. หากเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมกับพื้นที่ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยให้ได้ผลผลิตน้ำหนักดี


       2. หากมีกระบวนการเตรียมท่อนพันธุ์ที่เหมาะสม จะช่วยลดโรคและควบคุมต้นทุนการดูแลได้มีประสิทธิภาพ


       สำหรับสายพันธุ์มันสำปะหลังที่คุณสุเมธเลือกปลูก คือ “ระยอง 81” เนื่องจากทนแล้ง ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีภูมิต้านทานต่อ

“โรคไวรัสใบด่าง” ที่ระบาดในพื้นที่ได้มากที่สุด

ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสม ต้องมีความยาวประมาณ 15-20  ซม. มีตาถี่และมีจำนวนตาไม่น้อยกว่า 5 ตา

 

 

       ด้านการเตรียมท่อนพันธุ์ จะใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่อายุ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกิน 15 วัน มีความยาวประมาณ 15-20 ซม. มีตาถี่และมีจำนวนตาไม่น้อยกว่า 5 ตา จะมีโอกาสในการงอกสูง โดยก่อนปลูกคุณสุเมธ จะตั้งท่อนพันธุ์ไว้มัดละ 25 ท่อน จำนวน 4 มัด โดยกองเรียงไว้แล้วพ่นสารป้องกันเพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟไรแดง ปลวก และยาเร่งรากให้ชุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคจะลงไปที่หัวมันสำปะหลังได้

คุณสุเมธ จะมัดท่อนพันธุ์ไว้มัดละ 25 ท่อน จำนวน 4 มัด
เพื่อพ่นสารป้องกันแมลงและยาเร่งราก

 

 

       ทั้งนี้ คุณสุเมธ จะพิถีพิถันในการเลือกท่อนพันธุ์เป็นอย่างมาก หากพบท่อนพันธุ์ที่มีโรค หรือมีไวรัสใบด่าง จะคัดทิ้งทันที ซึ่งแม้ว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่ก็คุ้มค่า เนื่องจากช่วยป้องกันการระบาดของโรคไวรัสใบด่างในแปลงได้เป็นอย่างดี


       “ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้วิธีฉีดพ่นสาร “ไทอะมิโทแซม” ทุก 3-4 เดือน เพื่อป้องกันและกำจัดพวกเพลี้ย แมลงปากดูดต่างๆ ที่เป็นพาหะของไวรัสใบด่าง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต่อรอบ ทำให้ไม่คุ้มทุน พอหันมาใช้วิธีคัดเลือกท่อนพันธุ์ให้ปลอดโรคก่อนปลูก ก็พบว่าช่วยควบคุมต้นทุนได้ดีมากครับ” คุณสุเมธ เผยถึงความสำคัญในการเตรียมท่อนพันธุ์

 

 

ผลผลิตดีต้องใส่ใจเรื่องการเตรียมแปลง

 

       ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้โดยไม่เพิ่มต้นทุน คือ การเตรียมดินให้พร้อมทำการเพาะปลูกและกำจัดวัชพืชให้หมด เนื่องจากมีผลทำให้มันสำปะหลังที่ปลูกมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง ลงหัวได้ลึก สามารถดูดซับธาตุอาหารในดินและสะสมแป้งได้ดี ส่งผลให้ได้หัวมันน้ำหนักดีตามไปด้วย

 

       คุณสุเมธ จะเริ่มเตรียมแปลงโดยใช้วิธีไถดะด้วย “ผานเบอร์ 3” เพื่อกลับหน้าดิน พลิกกลบวัชพืช ซากใบ-ต้นของมันสำปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวลงไปในดิน หลังจากนั้นจะใส่ “ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ” ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ ปรับปรุงโครงสร้างให้ดินให้ร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและธาตุอาหารได้ดีขึ้น เสร็จแล้วจะตากดินทิ้งไว้ 10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน ตามด้วยการไถพรวนโดย “ผานเบอร์ 7” เพื่อตีให้ดินละเอียด

การตีดินให้ละเอียดจะช่วยให้มันสำปะหลังลงหัวได้ดี มีหัวที่ใหญ่ สมบูรณ์

 

 

       จากนั้น จะทำการยกร่องปลูก โดยคุณสุเมธ เลือกใช้ระยะปลูกตามคำแนะนำของนักวิชาการ คือ ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 100-120 ซม. และระหว่างต้นประมาณ 60-90 ซม. ช่วยให้ต้นได้รับแสงอย่างเพียงพอทั่วถึงและมีความแข็งแรง โดยก่อนปลูกจะรองพื้นด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินเตรียมพร้อมสำหรับการบำรุงพืชในทุกส่วน

 

การยกร่อง ควรเกลี่ยสันร่องให้ป้านในลักษณะ “สี่เหลี่ยมคางหมู”
เพื่อให้หัวมันมีพื้นที่ในการเจริญเติบโต

 

 

       ทั้งนี้ “การยกร่อง” มีส่วนในการช่วยเก็บความชื้น และระบายน้ำส่วนเกินในดินได้ดี แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรยกร่องปลูกแคบและแหลมในลักษณะ “สามเหลี่ยม” เนื่องจากเมื่อเข้าช่วง 4-5 เดือน (หลังปลูก) ที่หัวมันสำปะหลังเริ่มขยายใหญ่ขึ้น หัวมันฯ จะลอยโผล่พ้นดินออกด้านข้างร่องได้


       ดังนั้น คุณสุเมธจะแก้ปัญหาด้วยการประยุกต์ใช้ลูกกลิ้งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงรถไถ เพื่อเกลี่ยให้ดินเรียบในลักษณะ “สี่เหลี่ยมคางหมู” ซึ่งการทำแปลงให้เรียบ จะช่วยให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับมันสำปะหลังลงหัว ทั้งยังช่วยให้การวางสายน้ำหยดสม่ำเสมอ ไม่ตกสันร่อง และไม่ทำให้เม็ดปุ๋ยร่วงหล่นไปตามร่องเวลาใส่ปุ๋ยด้วย

 

 

ปลูกด้วยระบบน้ำหยด ช่วยให้มันสำปะหลังลงหัวดี-ได้น้ำหนัก

 

       คุณสุเมธ เผยว่า การปลูกมันสำปะหลังในสมัยรุ่นพ่อแม่นั้น จะพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนั้นมีปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้การปลูกในรูปแบบเดิมนั้นได้ผลผลิตต่ำ ตนจึงได้นำ “ระบบน้ำหยด” เข้ามาใช้แทน โดยในพื้นที่ 200 ไร่ จะแบ่งล็อคสำหรับให้น้ำเป็นพื้นที่ประมาณ 15 ไร่/ล็อค

 

       ทั้งนี้ มันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องได้รับในปริมาณที่สม่ำเสมอ เพราะหากดินมีความชื้นต่ำ จะทำให้มันลงหัวยาก

ระบบน้ำหยด ให้ปริมาณน้ำได้สม่ำเสมอ ประหยัด และเพียงพอสำหรับมันสำปะหลัง

 

 

       สำหรับเทคนิคการให้น้ำ คุณสุเมธ แนะนำว่า ในช่วงเริ่มปลูกที่ท่อนพันธุ์ยังไม่แตกตา ควรให้น้ำในปริมาณมาก หรือนานประมาณ 4-5 ชม./ล็อค/วัน เพื่อให้ดินอ่อนตัวง่ายต่อการแทงราก กระทั่งต้นเข้าสู่ช่วงแตกใบแล้ว จะลดปริมาณน้ำลงเหลือ 1-2 ชม./ล็อค/วัน หากให้น้ำมากจะทำให้ต้นล้มได้ง่าย


       คุณสุเมธ แนะนำว่า ปริมาณและความถี่ของการให้น้ำมันสำปะหลังนั้น ควรพิจารณาจาก “ความชื้นในดิน” เป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวแล้วมีเทคนิคตรวจสอบง่ายๆ โดยการใช้มือขุดดินให้ลึกประมาณ 10-15 ซม. แล้วกำดินขึ้นมา หากดินจับกันเป็นก้อนก็แสดงว่ายังมีความชื้นเพียงพอแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำนาน หรือยืดเวลาการให้น้ำออกไปก่อนได้

คุณสุเมธ ขุดดินลึกประมาณ 10-15 ซม. เพื่อตรวจสอบความชื้นในดิน

 

 

สูตรระเบิดหัวมันฯ ให้ได้ 7 ตัน/ไร่ พิสูจน์แล้ว ได้ผลผลิตดีจริง

 

       ปกติแล้วเรานิยมเรียกส่วนที่อยู่ใต้ดินของมันสำปะหลังว่า “หัว” แต่ความจริงแล้วส่วนนี้คือ “รากสะสมอาหาร” ที่ทำหน้าที่สะสมอาหารในรูปของแป้งเอาไว้จนมีลักษณะอวบอ้วน ซึ่งถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังจะมีระยะเวลาสะสมอาหารนานถึง 12 เดือน ดังนั้น พืชชนิดนี้จึงต้องการธาตุอาหารในการบำรุงหัวค่อนข้างสูง

 

       แต่ปัญหาสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ต้องเผชิญ คือ “ดินเสื่อมโทรม” ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 4-5 ตัน/ไร่ หรือยิ่งถ้าขาดน้ำก็อาจลดลงเหลือเพียง 3 ตัน/ไร่เท่านั้น ซึ่งหากต้องการทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จำเป็นต้องปรับปรุงทั้งเรื่องโครงสร้างดินให้โปร่ง มีอากาศไหลเวียนไม่แน่นทึบ และเติมธาตุอาหารในดินให้เพียงพอ

 

       คุณสุเมธ เผยว่า สมัยรุ่นพ่อแม่นั้นจะบำรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอทั่วไป แต่ในรุ่นของตนนั้นมีการศึกษาเรื่องธาตุอาหารเพิ่มเติม จนพบว่าการบำรุงธาตุอาหารให้ตรงกับความต้องการของพืชในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต มีส่วนช่วยให้ได้ผลผลิตดี จึงได้เปลี่ยนมาใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” แทน เพื่อให้บำรุงธาตุอาหารได้ตรงความต้องการของพืชมากยิ่งขึ้น โดยมีสูตรดังนี้

 

       - ช่วงอายุ 1-3 เดือน เป็นระยะที่เน้นการบำรุงต้นและใบ คุณสุเมธจะใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0, สูตร 18-46-0 และ สูตร 0-0-60 (อัตราส่วน 1:1:1) ปริมาณ 50 กก./ไร่ เพื่อเร่งให้ต้นและพุ่มใบ
สมบูรณ์ สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่ รวมถึงทำให้ระบบรากเจริญเติมโตแข็งแรง พร้อมลงหัว

 

       ทั้งนี้ การบำรุงมันสำปะหลังในช่วงนี้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าช่วงที่มันลงหัว เนื่องจากมันฯ จะมีรากแขนงและรากฝอยมากที่สุดหลังจากอายุ 45 วัน และหลังพ้น 4 เดือนไปแล้ว รากฝอยจะหลุดร่วงจนเกือบหมด เหลือเพียงหัว ทำให้การดูดซึมธาตุอาหารทางรากหลังจากนี้เริ่มน้อยลง แต่จะรับอาหารจากการสังเคราะห์แสงแทน ดังนั้น หากต้นและใบไม่สมบูรณ์ จะทำให้การสร้างอาหารน้อยตามไปด้วย

ต้นและใบที่สมบูรณ์ จะทำให้การสร้างอาหารของพืชดีขึ้น ช่วยให้หัวมันใหญ่ สมบูรณ์

 

       - ช่วงอายุ 4-5 เดือน เป็นระยะลงหัว หรือที่เกษตรกรนิยมเรียกกันว่า “ระยะระเบิดหัว” คุณสุเมธ จะใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0, สูตร 18-46-0 และ สูตร0-0-60 (อัตราส่วน 1:1:3) ปริมาณ 50 กก./ไร่ โดยการปรับเพิ่มอัตราส่วนปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 0-0-60 ให้มากขึ้นนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการช่วยขยายหัว เพิ่มน้ำหนัก เร่งการสะสมแป้ง ช่วยให้มันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์แป้งที่สูง  

“ระยะระเบิดหัว” ควรเน้นการใส่ปุ๋ยสูตรที่เร่งการขยายหัว เพิ่มน้ำหนัก
โดยคุณสุเมธ เลือกใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 0-0-60 ในอัตราส่วนมากกว่าสูตรอื่น

 

 

        คุณสุเมธ เผยว่า การใส่ปุ๋ยถูกช่วงเวลาตามความต้องการของพืช จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นได้ โดยหลังจากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยตรากระต่ายในอัตราส่วนข้างต้น สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นจากเดิม 5 ตัน/ไร่ เป็น 7 ตัน/ไร่ ทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น เนื่องจากเมื่อพืชได้รับการบำรุงตรงตามความต้องการ จะทำให้ได้ผลผลิตดี คุ้มค่าการลงทุน ไม่สิ้นเปลือง บำรุงในส่วนที่พืชอาจไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์

คุณสุเมธ กำลังผสมปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0, สูตร 18-46-0 และ สูตร0-0-60
เตรียมพร้อมสำหรับบำรุงมันสำปะหลัง

 

 

ใช้เครื่องจักรควบคู่แรงงานคนช่วยประหยัดเวลาและต้นทุน


       มันสำปะหลังจะเจริญเติบโตเต็มที่จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 10-12 เดือน โดยส่วนใหญ่แล้วฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป


       สำหรับวิธีในการเก็บเกี่ยว คุณสุเมธ เลือกประยุกต์ใช้รถไถแทรกเตอร์ที่มีอยู่แล้วร่วมกับแรงงานคน ผ่านการติดตั้งชุดอุปกรณ์เสริมแทน

มันสำปะหลัง จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 10 -12 เดือนขึ้นไป

 

       โดยวิธีการคือ จะนำรถไถแทรกเตอร์ ติดตั้ง “ชุดตัดต้นมันสำปะหลัง” ไว้ที่ส่วนหน้าของรถ ทำหน้าที่ตัดต้นมันขณะเก็บเกี่ยว ส่วนด้านหลังของรถจะติดตั้ง “ชุดผานหัวหมู” ทำหน้าที่จะขุดหรือดันหัวมันขึ้นมาจากดิน โดยหลักการทำงานคือ เวลาที่รถแทรกเตอร์วิ่งคร่อมแนวต้นมันสำปะหลัง ก็จะตัดต้นมันและขุดหัวมันขึ้นมาพร้อมกัน

 

        สำหรับผลผลิตส่วนใหญ่ จะส่งไปที่โรงงานแป้ง ซึ่งมีการรับซื้อตลอดทั้งปี แต่ต้องยอมรับว่าราคานั้นจะมีสูง-ต่ำขึ้นอยู่กับกลไกลตลาด คุณสุเมธ จึงเน้นว่าการปลูกมันสำปะหลังให้ประสบความสำเร็จและสร้างผลกำไรได้นั้น เกษตรกรต้องควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยทั้ง 2 สิ่งนั้นสามารถทำควบคู่กันได้ แต่ต้องอาศัยการวางแผนและการจัดการอย่างเหมาะสม

 

       แม้ว่าการทำเกษตรสำหรับมือใหม่นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หากมีความพยายามในการศึกษาหาความรู้ มีความช่างสังเกต ประยุกต์ใช้หลักวิชาการ เทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างที่คุณสุเมธปฏิบัติ และที่สำคัญคือใช้แนวทางการบำรุงผลผลิตให้ได้น้ำหนักอย่างตรงจุด ก็จะสามารถเริ่มต้นเส้นทางเกษตรกรได้อย่างมั่นคงได้ในที่สุด

ปุ๋ยตรากระต่าย ใช้แล้วคุ้มค่า ตัวช่วยให้มันสำปะหลังของคุณสุเมธ หัวใหญ่ น้ำหนักดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

สามารถติดตามสาระเกษตรน่ารู้ ได้ที่ 

คลิก “การใส่ปุ๋ยในมันสำปะหลัง”

 

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากปุ๋ยตรากระต่าย เพิ่มเติมได้ที่

Facebook: www.facebook.com/puitrakratai/

YouTube: www.youtube.com/c/Puitrakratai

TikTok: https://www.tiktok.com/@puitrakratai

ข้อมูลสินค้าปุ๋ยตรากระต่าย : https://www.chiataigroup.com/business/fertilizer/Puitrakratai-Rice-Fields