การดูแลมันสำปะหลังระหว่างการเพาะปลูก ความสำคัญของน้ำ และการเก็บผลผลิต

การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง

       การดูแลมันสำปะหลังเพื่อให้ผลผลิตที่ดีตามที่ต้องการ ปลอดจากโรคและแมลงรบกวน เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงเพาะปลูก ทุก 5 - 7 วัน หากพบการระบาดของโรคหรือแมลง จะต้องเพิ่มระยะการตรวจสอบแปลงเพาะปลูกให้ถี่ขึ้นทุก 3 วัน  ภายในช่วง 3 เดือนแรกหลังการปลูกถือว่าเป็นช่วงสำคัญของมันสำปะหลัง ต้องคอยดูแลแปลงปลูกให้ปลอดวัชพืช ได้แก่ หญ้าตีนติด หญ้าปากควาย  หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ บานไม่รู้โรยป่า ผักยาง สาบแร้งสาบกา ฯลฯ หากปล่อยให้วัชพืชเติบโตแย่งอาหารกับต้นมันสำปะหลัง จะส่งผลกระทบทำให้มันสำปะหลังมีลำต้นแคระแกร็น มีผลผลิตลดลง 20 - 30%

 

       เกษตรกรควรดูแลป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม หลังปักท่อนพันธุ์ควรฉีดยาคุมฆ่าหญ้า วิธีนี้สามารถคุมวัชพืชได้นาน 1 เดือน แปลงปลูกมันสำปะหลังอายุ 2 - 5 เดือน นิยมใช้แรงคนทํารุ่นโดยไถระหว่างแถวด้วยรถไถเดินตาม หรือทำการถากหญ้า หรือฉีดยาฆ่าหญ้า ทําซ้ำ 2 - 3 ครั้ง จนกระทั่งต้นมันสําปะหลังอายุ 5 เดือน เจริญเติบโต สร้างพุ่มใบคลุมพื้นที่ระหว่างร่องเพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งจะทำให้วัชพืชไม่ขึ้นมารบกวน 

 

โรคและแมลงที่สำคัญในมันสำปะหลัง

       เพลี้ยแป้ง เป็นหนึ่งในแมลงศัตรูพืช ที่มักเข้ามารบกวนในแปลงปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง สามารถดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งได้ โดยการตากดิน 2 สัปดาห์ก่อนการปลูก นอกจากนี้ ก่อนปลูกควรนำท่อนพันธุ์ไปแช่ในสารเคมีกำจัดแมลงที่แนะนำไว้ข้างต้น และควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หลังจากสารเคมีกำจัดแมลงหมดฤทธิ์ในระยะเวลา 1 เดือน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกทุก 7 วัน หากเจอเพลี้ยแป้งจะต้องรีบกำจัดทันที

 

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

 

       โรคใบด่างในมันสำปะหลัง  พบได้ค่อนข้างมากในมันสำปะหลัง มีการแพร่ระบาดจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ มาจากท่อนพันธุ์ และแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคเข้าแปลง หากเกิดจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรค เกษตรกรสามารถสังเกตได้ภายหลังปลูกไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ สังเกตได้จากใบชุดแรกของต้นมันสำปะหลังที่ผลิใบออกมาจะมีสีเหลืองซีด มีอาการบิดเสียรูปทรงหรือหงิก หากเกษตรกรไม่มีการป้องกันกำจัดให้ถูกวิธีอาจจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 80 - 100%  ของพื้นที่ปลูก ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบแปลงปลูกแบบต่อเนื่อง หากพบเจอต้องทำลายทันที เพื่อป้องกันความเสียหายในวงกว้าง

ใบด่างในต้นมันสำปะหลัง

โรคใบด่างในมันสำปะหลัง

 

การให้น้ำที่เหมาะสม

       มันสำปะหลังต้องการน้ำมากที่สุดในช่วง 6 - 10 เดือน ใช้น้ำน้อยที่สุด 1 - 5 เดือน แต่ถ้าขาดน้ำโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งอาจทำให้ผลผลิตลดลงถึง 60% ด้วยเหตุนี้เอง น้ำ จึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นเกษตรกรบางรายจึงตัดสินใจลงทุนทำระบบน้ำหยดเพื่อให้แปลงเพาะปลูกมันสำปะหลังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง  ต้นมันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เมื่อมันสำปะหลังได้รับน้ำตามระบบจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 30 - 50% เพราะน้ำ คือปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวช่วย ละลายธาตุอาหารจากดินสู่ลำต้นและใบ หากขาดน้ำ ลำต้นจะแคระแกร็นไม่มีแป้งไปสะสมในหัวมันสำปะหลัง

การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง

การเก็บเกี่ยวในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง

       การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังระยะที่เหมาะสมคือ ช่วงอายุ 8 - 12 เดือน หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ กิ่งก้าน ใบ หรือลำต้นมันสำปะหลังที่ไม่ใช้ประโยชน์ ควรสับทิ้งไว้ในแปลงเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงในดินต่อไป ไม่แนะนำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังระยะนี้มักแตกใบอ่อน มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ระยะที่เหมาะสมสำหรับทำการเก็บเกี่ยวคือ ช่วงเดือนธันวาคม - มีนาคม เพราะเป็นระยะที่มันสำปะหลังมีปริมาณเปอร์เซนต์แป้งสูง หลังการเก็บเกี่ยว ควรนำหัวมันสำปะหลังไปขายภายใน 1- 2 วัน ไม่อย่างนั้นมันสำปะหลังจะเน่าเสีย และเปอร์เซนต์แป้งลดลง

 

       การดูแลมันสำปะหลังระหว่างการเพาะปลูก ในเรื่องของโรคและแมลง การให้น้ำเพิ่มเติมในช่วงแล้ง วิธีการเหล่านี้ช่วยให้มันสำปะหลังมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ได้คุณภาพที่ดี ผลผลิตตามที่ต้องการ

 

สามารถติดตามสาระเกษตรน่ารู้ มันสำปะหลัง(ต่อ) ได้ที่

คลิก ปัจจัยสำคัญในการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ

คลิก ขั้นตอนการปลูกและการบำรุง ให้มันสำปะหลังหัวใหญ่ น้ำหนักดี

 

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากปุ๋ยตรากระต่าย เพิ่มเติมได้ที่

Facebook: www.facebook.com/puitrakratai/

Youtube: www.youtube.com/c/Puitrakratai

ข้อมูลสินค้าปุ๋ยตรากระต่าย : http://www.chiataigroup.com/business/fertilizer/puitrakratai