ละเอียด แดงแตง เกษตรกรวัยเก๋า จ.สุพรรณฯ เผยเคล็ดลับปลูกข้าวยังไง ให้ได้ผลผลิต 130 ถัง/ไร่

       ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีความเหมาะสมในการปลูกข้าว แต่การจะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่เพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมทำให้การผลิตข้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การบำรุงข้าวในแต่ละระยะ รวมถึงการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามความต้องการทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณ 

ลุงละเอียด แดงแตง แห่ง ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 

 

 

       โดยจะพาไปรู้จักกับ คุณลุงละเอียด แดงแตง แห่ง ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เกษตรกรวัยเก๋า ผู้ที่ไม่ยอมให้อายุมาเป็นอุปสรรคหรือข้ออ้างในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผลผลิตในนาข้าวของตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งคุณลุงละเอียดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่แก่เกินเรียนจริงๆ จากเมื่อก่อนลุงละเอียดเคยผลิตข้าวได้เพียง 80-90 ถัง/ไร่ ปัจจุบันลุงสามารถผลิตข้าวได้มากถึง 130 ถัง/ต่อไร่  

 

       เชื่อว่าทุกท่านคงอยากทราบกันแล้วใช่ไหมว่าคุณลุงละเอียดมีเคล็ดลับการปลูกข้าวยังไงให้ได้ผลผลิตมากถึง130 ถัง/ไร่ ถ้าอยากรู้ก็ตามมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย   

 

เรียนรู้ ปรับตัว ปรับใช้ ให้ทันยุคสมัย  
สูตรสำเร็จการทำนาของ ลุงละเอียด 

 

       ลุงละเอียด เผยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ทำนาอยู่ 60 ไร่ มีประสบการณ์ทำนากว่า 60 ปี แต่ก่อนหน้านี้ทำนาได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ประสบปัญหาข้าวไม่ออกรวง เนื่องจากสภาพดินไม่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับขาดองค์ความรู้ในการดูแลข้าวอย่างถูกวิธี ทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่น้อยเพียง 80-90 ถัง/ไร่ แต่พอได้เปิดใจเรียนรู้เรื่องของการใช้ปุ๋ย ใช้ยา อย่างถูกวิธี แนวโน้มของผลผลิตเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยได้ 80-90 ถัง/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 130- ถัง/ไร่ มีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิมเกือบเท่าตัว และนอกจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนของคุณภาพของข้าวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คือ ข้าวเมล็ดเต่ง เต็มรวง สีสวย เมื่อนำไปไปขายที่โรงสี ก็จะขายได้ราคาดีกว่าของคนอื่นๆ  

 

       “ลุงเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะลุงคิดอยู่เสมอว่าถ้าลุงหยุดนิ่งก็เท่ากับว่าเราย่ำเท้าอยู่กับที่ แทนที่เราจะได้ผลผลิตมากกว่าที่เคยได้ ก็กลับว่าได้เท่าเดิมหรือแย่ไปกว่าเดิมซะอีก เพราะฉะนั้นลุงต้องหมั่นขยันศึกษาหาความรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการในไร่นามากขึ้น รวมถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ เรื่องปุ๋ย ยา ที่มีมาให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอด และการพาตัวเองออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในไร่นาของตนเอง จนทุกวันนี้ลุงกล้าพูดได้เลยว่าลุงก็เป็นชาวนาอีกคนที่ประสบความสำเร็จในการทำนา เพราะการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และหมั่นพัฒนานำเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ และพัฒนาผลผลิตอยู่ตลอดเวลา ลุงละเอียด เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟัง 

ข้าวรวงใหญ่ เมล็ดเต่ง ผลผลิต 130 ถัง/ไร่ 

 

 

เมล็ดพันธุ์ดี ปุ๋ยดี” 
เลือกให้เหมาะกับต้นข้าว  
เอาอยู่ทุกสถานการณ์ 

 

       คุณลุงละเอียด บอกว่า แน่นอนว่าถ้าอยากปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องเริ่มต้นจากการเลือกปลูกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ และช่วงฤดูกาล เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวโดยตรง ซึ่งการปลูกข้าวของคุณลุงละเอียดนั้น จะเลือกปลูกทั้ง “ข้าวพันธุ์เบา” คือข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 90-100 วัน และ “พันธุ์หนัก” มีอายุเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วัน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของดินในพื้นที่ที่มีทั้งดินเหนียว และดินทราย เพราะลุงมีพื้นที่ปลูกข้าวหลายแปลง 

 

       ดังนั้นด้วยข้อจำกัดของสภาพพื้นดินที่ไม่เหมือนกัน การปลูกข้าวจึงจำเป็นต้องมีความพิถันใส่ใจรายละเอียด การเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูกต้องศึกษาให้ดีว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์เหมาะปลูกในสภาพพื้นดินแบบไหน และที่สำคัญต้องมาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เพื่อที่จะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่มีเชื้อราติด และได้ผลผลิตดี 

เมล็ดพันธุ์ข้าวดี ช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น 

 

 

       จากนั้นเมื่อได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมจากแหล่งผลิตที่เชื่อได้แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือการต้องเลือกใช้สูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับที่ต้นข้าวต้องการในแต่ระยะ และเหมาะสมกับสภาพพื้นดินนั้นๆ เพราะฉะนั้นการบำรุงธาตุอาหารก็แตกต่างกัน ตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกษตรกรหลายคนมองข้าม 

 

       โดยการเตรียมแปลงเพื่อทำนา ของคุณลุงละเอียดจะเริ่มตั้งกระบวนการเก็บวัชพืชที่หัวคันนาให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและหลบซ่อนตัวของศัตรูพืชในนาข้าว จากนั้นทำการวิดน้ำเข้าแปลงไว้ประมาณ 1-2 คืน เพื่อให้ง่ายต่อการเตรียมดิน ปั่นดิน พร้อมที่จะทำการปั่นดิน และเมื่อปั่นดินเสร็จแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนการขลุบย่ำนาให้ตอข้าวราบลง แล้วชักร่อง เพื่อเตรียมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว 

 

ใส่ใจทุกช่วงการเจริญเติบโต 
ไม่พลาดการบำรุงทุกช่วงสำคัญ 
ผลผลิตต่อไร่สูง ได้กำไรหายเหนื่อย  

 

       มาถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือช่วงของการบำรุงธาตุอาหารให้ถูกช่วง ถูกจังหวะกับที่ข้าวต้องการ ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นลุงละเอียดจึงไม่ขอพลาดการบำรุงดูแลทุกช่วงสำคัญ 

 

       โดยคุณลุงละเอียด เผยว่า ที่แปลงนาจะใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่ระยะข้าว 0-4 วัน คือหลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเสร็จแล้ว จะทำการปล่อยน้ำออกจากนา แล้วฉีดยาคุมเลน โดยใช้ ซีเฮอร์ (เพรทิลาคอร์) อัตรา 200 ซีซี ผสม อโทนิค (ฮอร์โมนกลุ่มไนโตรฟีโนเลต) อัตรา 20 ซีซี และอีก่าร์ (ไทอะมีทอกแซม) 200  กรัม ต่อไร่ ผสมกับ้ำ 20 ลิตร ช่วยในการคุมกำจัดวัชพืชในนาข้าว เพราะหากปล่อยให้วัชพืชขึ้นเยอะเมื่อข้าวเริ่มโตจะส่งผลทำให้ผลิตที่ได้ลดลง  

ตัวช่วยสำคัญในการคุมกำจัดวัชพืชในนาข้าว 

 

 

       ซึ่งเทคนิคการฉีดพ่นยาคุมในช่วงนี้คือหลังจากปล่อยน้ำออกจากนาเสร็จ ให้รีบฉีด อย่ารอให้หน้าดินแห้ง เพราะจะทำให้ยาประสิทธิภาพของยาลดน้อยลง พร้อมกับการใช้อโทนิคสมลงไปกับยาคุมเลน เพราะจากที่ลุงได้ไปอ่านข้อมูลมาก็ทำให้รู้ว่า อโทนิคมีคุณสมบัติช่วยให้ข้าวหน่ออวบ โตไว เขียวไว จึงได้ทดลองใช้แล้วได้ผลดี เพราะก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาปลูกข้าวช่วงหน้าหนาวแล้วข้าวงอกไม่ดี ร้านค้าก็แนะนำให้ใช้อโทนิคหลังจากได้ทดลองใช้อโทนิคฉีดแล้วปรากฏว่าข้าวงอกดี ไม่ชะงัก แถมยังหน่ออวบ โตไว อีกด้วย  

 

       จากนั้นเมื่อ ข้าวอายุ 8-10 วัน ทำการฉีดยาคุม-ฆ่าอีกครั้ง เพราะถ้าไม่ฉีดยาคุม-ฆ่าในช่วงนี้ หญ้าจะหลุดเยอะ หากปล่อยไว้หญ้าที่โตไวกว่าต้นข้าวจะมาแย่งปุ๋ยและธาตุอาหารไปนั่นเอง โดยการฉีดช่วงนี้คุณลุงละเอียดจะใช้กรุมก้า (โคลมาโซน + โปรพานิล) อัตรา 200 ซีซี ผสมกับอโทนิค ในอัตรา 20 - 25 ซีซี และอีก่าร์ (ไทอะมีทอกแซม) 200 กรัม ต่อไร่ ผสมกับ้ำ 20 ลิตร  เพื่อช่วยให้ข้าวฟื้นตัวไว ต้นข้าวโตดี เขียวดี   

เคล็ดไม่ลับช่วยข้าวฟื้นตัวไว ต้นข้าวโตดี เขียวดี 

 

 

       “ถ้าเราใช้อโทนิคสมฉีดพ่นตั้งแต่ข้าวเล็กจนถึงข้าวโต ข้าวมันจะโตเร็ว เก็บเกี่ยวได้ก่อนกำหนด แต่ถ้าไม่ผสมอโทนิค หน่อข้าวจะสั้น ทำให้เราคุมน้ำเข้านาไม่ได้ ต้องรอไปอีก 10 กว่าวัน พอทิ้งระยะเวลารอไปอีก 10 กว่าวัน ก็ทำให้หญ้ายิ่งโตสุดท้ายก็คุมและกำจัดหญ้าไม่ทัน ยิ่งถ้าเป็นหน้าหนาวหญ้าจะโตเร็ว แต่ข้าวเวลาเจออากาศหนาว เย็นจะโตช้า เราเลยต้องใช้อโทนิคช่วยเร่งให้ข้าวโตตามปกติ เราจะได้ไขน้ำเข้านาได้เร็ว หญ้าจะได้ไม่ขึ้นลุงละเอียดเผยสาเหตุของการใช้อโทนิคในช่วงระยะข้าว 8-10 วัน 

 

       มาถึงช่วงการบำรุงข้าว อายุ 25-30 วัน (ระยะแตกกอ) เริ่มบำรุงปุ๋ยทางดินครั้งที่1 ควบคู่กับการใช้ฮอร์โมนฉีดพ่นทางใบ เพราะเป็นช่วงสำคัญที่สุดสำหรับการบำรุง ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้าว และปลอดภัยจากการรบกวนของแมลงศัตรูพืช  

 

       โดยการเลือกใช้ปุ๋ยแต่ละสูตรในการบำรุง คุณลุงละเอียดบอกว่า ขึ้นอยู่กับต้นข้าว และสภาพของดิน เนื่องจากปัจจัยของสภาพดินปลูกที่มีทั้งแปลงที่เป็นดินเหนียว และแปลงที่เป็นดินทราย ดังนั้นความต้องการธาตุอาหารของพืชก็แตกต่างกัน จึงต้องเลือกใช้สูตรปุ๋ยให้เหมาะกับต้นข้าว โดยอาศัยการสังเกตุต้นข้าว ควบคู่ไปกับการบำรุง  

 

       สำหรับปุ๋ยที่เลือกใช้ในการบำรุงข้าวในระยะแตกกอ หากเป็นพื้นที่ดินทราย จะเลือกใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 (ยูเรีย) ตรากระต่าย อัตรา 20 กก./ไร่ ส่วนถ้าปลูกในพื้นที่ดินเหนียว จะเลือกใช้ปุ๋ย สูตร 16-16-8 ตรากระต่าย อัตรา 25 กก./ไร่ แต่ถ้าในกรณีที่การเจริญเติบโตของข้าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จะเสริมด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 16-20-0 ตรากระต่าย อัตรา 25 กก./ไร่  

 

       หลังจากหว่านปุ๋ยได้ประมาณ 5-7 วัน ข้าวจะเริ่มเขียว ก็จะเริ่มมีหนอน มีแมลงมารบกวน ต้องฉีดพ่นสารเพื่อป้องกันตามศัตรูพืชที่ระบาด โดยใช้อัลทาคอร์ (คลอแลนทรานิลิโพล) ผสมกับอโทนิค 20-25 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร 

 

       เมื่อเข้าถึงระยะข้าวอายุ 45 วัน (ช่วงรับท้อง) เป็นช่วงระยะที่ต้องเร่งใส่ปุ๋ยบำรุง สูตรปุ๋ยที่ใช้จะขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกด้วย หากเป็นพันธุ์ข้าวเบา จะเลือกใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ตรากระต่าย ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง อัตราครั้งละ 25 กก./ไร่ และในส่วนของข้าวพันธุ์หนัก จะใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรก ใส่ปุ๋ยในอัตรา 25 กก./ไร่ ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 จะใส่ปุ๋ยในอัตรา 20 กก./ไร่ พร้อมกับการฉีดพ่นฮอร์โมน (ชุดบำรุงรวงอ่อน) บำรุงต้นข้าวระยะข้าวตั้งท้องด้วย เพื่อให้เมล็ดข้าวสมบูรณ์ ดังนี้ 

 

       สำหรับข้าวพันธุ์เบา ในระยะข้าวอายุ 45-50 วัน จะใช้ นิวฟอส (กรดฟอสโฟนิก) 1 ลิตร อโทนิค 200 - 250 ซีซี พาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน) 500 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 5-10 ไร่

ฉีดพ่นให้ตรงระยะ ผลผลิตดีแน่นอน 

 

 

       โดยเทคนิคสำคัญอยู่ที่การฉีดพ่นให้ตรงระยะ เพราะจะได้เมล็ดข้าวมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้าวระยะนี้ ซึ่งสารบำรุงแต่ละตัวก็จะช่วยในเรื่องที่แตกต่างกันคือ  

  • อโทนิค (ฮอร์โมนกลุ่มไนโตรฟีโนเลต) จะช่วยผสมเกสร ผสมติดสุดคอรวง
  • นิวฟอส (กรดฟอสโฟนิก) ช่วยสร้างแป้ง 
  • พาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน) ช่วยป้องกันโรคเมล็ดด่าง, โรคใบจุดสีน้ำตาล, ใบขีดสีน้ำตาล

 

       เพราะช่วงข้าวอายุ 45 วัน จะตรงกับ ระยะ 4.1 ซึ่งเป็นนะระยะสำคัญที่สุดที่ต้องฉีดพ่นให้ตรง โดยปกติจะมีแนะนำให้เกษตรกรนับอายุด้วย โดยระยะ 4.1 จะเท่ากับอายุเก็บเกี่ยวของข้าวพันธุ์ที่ปลูก ลบด้วย 60 จะเท่ากับข้าวระยะ 4.1 พอดี เช่น ข้าวพันธุ์ที่ปลูกมีอายุเก็บเกี่ยว 100 วัน การหาระยะ 4.1 คือ เอา 100 ลบ 60 = 40 ระยะ 4.1 ที่จะต้องพ่นคือ ช่วงข้าวอายุ 40 วัน เป็นต้น 

 

       และในส่วนของข้าวพันธุ์หนัก ในระยะข้าวอายุ 60 วัน จะบำรุงโดยใช้สูตรเดียวกันก็คือ นิวฟอส (กรดฟอสโฟนิก) 1 ลิตร อโทนิค 200 - 250 ซีซี พาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน) 500 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้ ต่อพื้นที่ 5-10 ไร่ แล้วผสมด้วยปุ๋ยเกล็ด 6-32-32 อัตรา 1 กก./10 ไร่  เพื่อเร่งแป้ง เร่งน้ำหนัก 

ระยะโน้มรวง(ข้าวก้ม) 

 

 

       จนมาถึงการบำรุงในช่วงสุดท้าย ระยะโน้มรวง(ข้าวก้ม) ข้าวพันธุ์เบาอายุประมาณ 60-70 วัน และข้าวพันธุ์หนักอายุประมาณ 70-80 วันขึ้นไป จะทำการฉีดพ่นอีกอีกครั้งโดยใช้ผลิตภัณฑ์ดังนี้ นิวฟอส 200 ซีซี อโทนิค 20-25 ซีซี พาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน) 500 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 5-10 ไร่ และผสมปุ๋ยเกล็ด สูตรตัวท้ายสูง เช่น 13-0-46 เร่งน้ำหนัก เร่งแป้ง ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 10 ไร่  ซึ่งการใช้พาบินส์พ่นในระยะนี้เพื่อช่วยขัดผิวเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวสีสวย เมล็ดใส ส่วนตัวอโทนิคจะช่วยให้ข้าวสุกเสมอกันเวลาเก็บเกี่ยวได้น้ำหนักดี  

 

การพัฒนาเกิดจากการเรียนรู้ 
ปล่อยให้อายุเป็นเพียงตัวเลข 
ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
 
 

       สุดท้ายนี้คุณลุงละเอียดฝากไว้ว่า การพัฒนาเกิดจากการเรียนรู้ ใครอายุมากก็ขอให้แก่แค่อายุ แต่ความรู้ต้องพัฒนาอยู่ตลอดดูอย่างลุงจากเมื่อก่อนปลูกข้าวได้ไม่ถึงตัน แต่พอได้ลองเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หมั่นเรียนรู้ศึกษาในสิ่งที่ไม่ถนัดจนเกิดความชำนาญ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นจนเห็นได้ชัด อย่างการใช้ยา การใช้ฮอร์โมนบำรุง รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้ศึกษาลุงไม่รู้ใครแนะนำอะไรก็ใช้ผลสุดท้ายก็ล้มเหลว จึงได้เปลี่ยนตัวเองใหม่ พยายามทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ โดยเรียนรู้จากพนักงาน หรือเซลล์บริษัทฯ ที่มาแนะนำ ตรงนี้จะช่วยได้มาก เพราะถ้าเรามีความรู้เรื่องยา เราก็จะใช้ยาได้ตรงโรค รักษาได้ตรงจุด ทำให้ไม่ใช้ยาซ้ำซ้อนจนเกิดความสิ้นเปลือง บางคนไม่ศึกษาเวลาข้าวเป็นโรคก็เอายามาฉีดผิดๆ ก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และนอกจากมีความรู้แล้วต้องมาควบคู่กับความมีระเบียบ วินัย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ถึงเวลาพ่นยาเราต้องพ่น ถึงเวลาคุมหญ้าเราต้องคุม ถึงเวลาเอาน้ำเข้านาก็ต้องตรงกำหนด แล้วจะได้ผลผลิตตรงตามที่วางแผนไว้ คุณลุงละเอียด กล่าวทิ้งท้าย 

เพื่อนคู่คิด อยู่เคียงข้างลุงละเอียดเสมอมา 

 

 

       จากเรื่องราวของคุณลุงละเอียด เกษตรกรวัยเก๋าที่นอกจากการถ่ายทอดเคล็ดลับการปลูกข้าวแล้ว ประสบการณ์ และความตั้งใจที่จะเรียนรู้ของลุง ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรอีกหลายคนที่กำลังท้อแท้กับการทำนา ให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ ขยันทดลองค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ แล้ว คุณลุงละเอียดยังเปิดใจเรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการผลิตอีกด้วย โดยปัจจุบันที่แปลงของคุณลุงละเอียดมีการใช้โดรนเข้ามาช่วย ทำให้การฉีดพ่นยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการพ่นสารต่างๆ มีความสม่ำเสมอ ข้าวไม่เสียหายจากการโดนเหยียบย่ำ และช่วยให้การทำงานมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย 

ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการผลิต 

 

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากอารักขาพืชเจียไต๋ เพิ่มเติมได้ที่ 

Facebook : www.facebook.com/ChiataiPlantprotection  

YouTube : www.youtube.com/@Chiataiplantprotection  

ข้อมูลสินค้าอารักขาพืช : www.chiataigroup.com/business/plant-protection/FoliarFertilizerAndHormone